ดัชนียาแก้ปวด กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

23 ธ.ค. 2566 | 03:56 น.

ดัชนียาแก้ปวด กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน : Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ในแวดวงธุรกิจโรงพยาบาล มอง “ยาแก้ปวด” เป็นดัชนีชี้การแสวงหากำไรของธุรกิจ ที่ถึงแม้จะสะท้อนภาพของการดำเนินงานไม่ได้ทั้งหมด แต่มีเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจ ซึ่งผมอยากจะแชร์เรื่องราวกับทุกท่านพร้อมกับการฉายภาพธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยในปัจจุบัน ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเมดิคัลฮับ และมีส่วนในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านสุขภาพและสาธารณสุขในสังคมไทยควบคู่ไปด้วย

ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ในบรรดาธุรกิจที่ทนทานต่อความผันผวนของเศรษฐกิจได้ดี ธุรกิจโรงพยาบาลมักจะเป็นหนึ่งในคำตอบนั้นเสมอ ลองดูในช่วงที่เงินเฟ้อเพิ่มสูง ค่าบริการและค่ายาของโรงพยาบาลเอกชนกลับปรับเพิ่มขึ้นทุกปี และค่อนข้างมีอำนาจในการต่อรองกับผู้ใช้บริการ

กล่าวคือ คนไข้ไม่สามารถต่อรองค่าแพทย์ (Doctor fee) หรือค่ารักษาพยาบาลได้ ต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ถูกส่งต่อไปยังคนไข้ ทำให้โรงพยาบาลยังคงมีความสามารถในการบริหารจัดการกำไรได้ดี และในขณะเดียวกัน ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเอง ก็หันมาให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนเพื่อการสร้างผลกำไรในระยะยาว

อีกทั้งภาพรวมของเศรษฐกิจก็มีผลต่อกลไกดังกล่าว ถ้าเศรษฐกิจดี ผู้บริโภคก็มีกำลังซื้อ คนที่เลือกการวางแผนสุขภาพด้วยการซื้อประกันก็มักจะเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชน แต่หากคนไหนมีเงินน้อย ก็อาจจะเข้าโรงพยาบาลรัฐหรือคลินิก หรือไม่ก็ซื้อยาตามร้านขายยาเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยที่เกี่ยวข้อง

เช่น กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแลเรื่องราคายา โดยมีกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่กำกับดูแลภาพรวมโดยตรง เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างมนุษยธรรมและการบริการด้านการแพทย์ ซึ่งไม่ว่าใครจะยากดีมีจน หากเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนหรือรัฐ ก็จะต้องได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

และสิ่งที่มักถูกกล่าวถึงมากที่สุด ก็คือราคายา ซึ่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์นั้น เป็นสินค้าที่อยู่ในการควบคุมดูแลดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ผมลองชวนทุกท่านมาดูราคายา โดยหยิบยกเปรียบเทียบตัวอย่างราคายาแก้ปวดยี่ห้อหนึ่ง (TYLENOL ขนาด 500 มิลลิกรัม) ที่โรงพยาบาลเอกชนคิดกับผู้รับบริการ จากข้อมูลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ล่าสุด พบว่า ราคาต่ำสุดอยู่ที่เม็ดละ 1 บาท สูงสุดอยู่ที่ 22 บาท จากราคาเฉลี่ย (ต้นทุนเฉลี่ย) ที่โรงพยาบาลต่างๆ ซื้อมาในราคาเม็ดละ 0.73 บาท ผมหยิบยกบางโรงพยาบาลเทียบให้ดูดังนี้

ดัชนียาแก้ปวด กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

อ้างอิง: ระบบค้นหาและเปรียบเทียบราคายา กรมการค้าภายใน, ธ.ค. 2566

               (คลิก: https://hospitals.dit.go.th/app/portal.php)

เมื่อพิจารณาลึกลงไปอีก จะพบว่ายิ่งสั่งซื้อยาในปริมาณมาก ต้นทุนราคายาก็จะยิ่งถูกลง โรงพยาบาลบางแห่งถึงกับลงทุนในธุรกิจการผลิตยาชนิดนี้โดยเฉพาะ ก็ยิ่งทำให้ได้ต้นทุนต่ำลงไปอีก ซึ่งผมยังไม่อยากให้ใช้มาตรวัดการดำเนินธุรกิจด้วยยาเพียงชนิดหรือยี่ห้อเดียว

แต่อยากให้ผู้อ่านทำความเข้าใจโครงสร้างในการกำหนดราคายาและการให้บริการของโรงพยาบาลว่า จริงๆ แล้ว โรงพยาบาลแต่ละแห่งมีต้นทุนในการให้บริการ หรือต้นทุนในการจัดหายาและเวชภัณฑ์ที่แตกต่างกันไป ในขณะเดียวกัน พวกเราในฐานะผู้บริโภคก็สามารถตรวจสอบเปรียบเทียบค่าบริการยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 304 รายการ ผ่านระบบของกรมการค้าภายในได้

แต่อย่างไรก็ดี ผมอยากให้ทุกท่านมองโรงพยาบาลเอกชนในอีกแง่มุมหนึ่ง ว่าโรงพยาบาลเหล่านี้ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขของไทย และการให้บริการด้านการแพทย์จะต้องเป็นไปตามหลักจริยธรรมและยึดหลักการให้บริการอย่างเท่าเทียม โดยจะเห็นได้ว่า

ในปัจจุบัน ภาครัฐจะดึงสถานพยาบาลภาคเอกชนมาเป็นกลไกในการขยายบริการรักษาโรคที่มีความยากซับซ้อนไปยังพื้นที่ในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากการกระจายตัวของประชากรและความซับซ้อนของโรคเฉพาะทาง เพื่อเป็นการกระจายการเข้าถึงการรักษา จึงมีโมเดลการร่วมจ่ายค่ารักษาโรคเฉพาะทางในสาขาที่ขาดแคลน เช่น โรคมะเร็ง ผ่าตัดโรคหัวใจ การผ่าตัดเส้นเลือดเพื่อฟอกไต เป็นต้น

ความแตกต่างเฉพาะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาล ก็คือ มิติด้านความยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) หรือ ESG ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การสร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพของผู้ใช้บริการ (คนไข้) ในระยะสั้น และยังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมในระยะยาว และเมื่อ “ดัชนียาแก้ปวด” ส่งสัญญาณบางอย่างได้ ในความเห็น

ส่วนตัวผมจึงมองว่า ธุรกิจโรงพยาบาลนั้น เป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยธรรมชาติ กล่าวคือ เป็นธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งด้านแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้น การบริหารจัดการของโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ย่อมนำมาซึ่งการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดราคาการให้บริการอย่างเหมาะสม และทำให้เกิดการกระจายการบริการที่เข้าถึงได้ในวงกว้างต่อไป

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 43 ฉบับที่ 3,944 วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2566